เพิ่มพลังเสียงให้ชุดคุณ (โดยไม่ต้องเสียเงิน)
โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ
เมื่อชุดเครื่องเสียงที่เราใช้อยู่ให้เสียงได้ไม่เต็มที่ จุใจ เราจะแก้ปัญหาได้อย่างไรโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อแอมป์ใหม่ที่กำลังขับสูงขึ้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เสียงที่เต็มที่ จุใจคืออะไร?
ถ้ามันหมายถึง เสียงออกมาแบบอั้นๆ เร่งไม่ขึ้น ไม่มีน้ำหนักเสียง มีแต่ความดังแบบโหว่งๆไม่มีเนื้อควบแน่น ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมาหาเราเท่าที่ควร ออกจะถอยจมติดจอ ไม่ว่องไว เข้มข้น ฉับพลัน
ถ้าอาการชุดของคุณเป็นดังนี้ เรามีวิธีแก้ได้โดยคุณแทบจะไม่ต้องเสียเงินเลย
- ตรวจสอบทิศทางสายไฟ AC ที่เข้าห้องเสียงคุณ ที่ลากจากมิเตอร์ ถ้าเดินสายย้อนทิศเช่น ควรเดินแบบอ่านยี่ห้อสายไล่จากมิเตอร์มาเข้าห้อง แต่ช่างเดินย้อนเป็นอ่านยี่ห้อสายไล่จากเต้าเสียบตัวเมียในห้องฟังไปยังมิเตอร์ (จะเดินตามหรือเดินย้อนอย่าดูที่เขาสกรีนหรือมีลูกศรมา ต้องตัดตัวอย่างมาฟังทดสอบก่อนเสมอ)
การเดินสายไฟ AC ของห้อง(หรือแม้แต่สายไฟACที่มากับเครื่อง) ถ้าผิด เสียงจะแบน อั้น เร่งไม่ขึ้น จะถูกกดระดับเสียงไว้ที่ระดับหนึ่ง ทุกชิ้นดนตรีในวง นักร้อง อาจจะวิ่งออกมาหาเราได้ แต่จะถูกกักไว้ที่เส้นตรงระยะหนึ่ง ไม่มีชิ้นไหนก้าวล้ำพ้นจากแนวเส้นตรงนั้นได้ (เหมือนมีกระจกใสกั้นขวางอยู่)
- INTERCONNECT),สายลำโพง,สายภาพ (ที่มีผลต่อเสียงด้วยเช่นกัน!),สายดิจิตอล ล้วนมีอาการเดียวกันถ้าเดินผิดทิศ
- ยกสายไฟ สายลำโพง สูงหนีพื้นห้อง( แม้จะเป็นพื้นปูน ปูพรม เพราะในปูนมีเส้นเหล็ก มันเหนี่ยวนำกับเส้นแรงแม่เหล็กจากหม้อแปลงไฟของเครื่อง ทำให้เสียงบาง,จม,ขาดมวล,ขาดน้ำหนัก เหมือนไม่ดัง)
- หลีกเลี่ยงสายลำโพง,สายเสียง บางยี่ห้อ (ขนาดว่าดังระดับโลก,ราคาแพงลิบลิ่ว) ที่บั่นทอนมวลเสียง,เนื้อเสียง(HARMONICS) ทำให้เสียงบาง มีแต่หัวโน้ต ขาดน้ำหนัก เหมือนแอมป์ไม่มีพลัง (จะหายไปเยอะเลย)
- หัวปลั๊กสายไฟAC ตัวผู้ ต้องเสียบที่เต้าเสียบให้แน่นที่สุด ไม่หลวมคลอน ขาของหัวเสียบตัวผู้นี้ถ้าเป็นขากลม เสียงจะอิ่มแน่น มีมิติดีกว่าขาแบน
- สายไฟAC ดีๆ (ทำจากตัวนำคุณภาพสูง มีขนาดเหมาะสม ทิศทางถูกต้อง) จะช่วยให้ เสียงอิ่ม มีพลัง ดังขึ้นได้มากอย่างที่คุณนึกไม่ถึงทีเดียว
- หัวแจ๊คเสียบของสายลำโพงแบบบานาน่า จะให้เสียงอิ่ม,ดัง,นิ่ง,มีไดนามิกดีกว่าแบบปลอกสายแยงรูหรือแบบหางปลา และควรเลือกหัวที่มีคุณภาพดีด้วย
- ปลายสายลำโพงที่อยู่ในตู้ลำโพง ไม่ว่าด้านที่เสียบเข้าดอกลำโพง หรือปลายสายด้านเสียบกับแผงวงจรแบ่งความถี่เสียงหรือแผงขั้วรับสายลำโพงหลังตู้ลำโพง ปลายสาย เหล่านี้มักมีตัวเสียบรูปตัวยู (U) แบนๆอัดยึดอยู่ ให้ตัดตัวยูออกแล้วบัดกรี(ตะกั่วเงิน)เข้ากับขั้วรับโดยตรง(กับดอกลำโพงแหลมต้องมีฝีมือหน่อย อย่าแช่หัวแร้งนานเกิน 5 – 8 วินาที เดี๋ยววอยส์คอยล์เสียได้)
เช่นเดียวกัน แยกสายลำโพงในตู้ลำโพงที่เข้าดอกลำโพงแต่ละดอกให้ห่างจากกัน ไม่แตะต้องและมัดอยู่ด้วยกัน (ทุกๆ ช่วงของสายเลย)
การทำตามข้อ 7 นี้เสียงจะกระเด็นเป็นเม็ด, หลุดลอยออกมา, ดังขึ้น, โฟกัสนิ่งขึ้น, ไดนามิกดีขึ้น ดังขึ้นได้ถึง 1 dB ทีเดียว ถือว่าเยอะ
- ถ้ามีฝีมือแน่จริง หาแผงไม้มาแทนแผงวงจรแบ่งเสียง แล้วเดินสายลำโพงหรือเชื่อมขาอุปกรณ์แต่ละตัวบนแผงวงจรนี้ ขาถึงขาเลย โดยตัดลายแผงวงจรไม่ใช้(เรียกเดินแบบใช้สายเชื่อมหรือขาถึงขา) เสียงจะดังขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า 1 dB (ทิศทางสายก็ต้องฟังทดสอบด้วย แม้ว่าจะสั้นๆแค่ 1 ซ.ม.!)
- เอียงลำโพงหันเข้ามายังตำแหน่งนั่งฟัง ให้เสียงตั้งฉากจากตู้ซ้ายกับตู้ขวามาตัดอยู่ข้างหน้าเรา ห่างไปประมาณ 50 ซ.ม. เสียงจะเป็นตัวตนมีน้ำหนัก มีมวลขึ้น ตื้น-ลึกขึ้น
- อย่าได้คิดจะอาศัยเสียงก้อง ,สะท้อนจากห้องมาช่วยเพิ่มความดัง ไม่ว่าจะหันลำโพงเข้าฝา วางลำโพงเข้ามุมห้อง ติดเพดาน วางบนพื้น เพราะวิธีอาศัยตัวห้องมาขยายเสียง จะได้แต่ความดังขึ้นอันอื้ออึง ไม่ได้ศัพท์ ไม่เป็นตัวตน มั่วฟุ้งไปหมด หาเสน่ห์ความน่าฟังอะไรไม่ได้
- เอาหน้ากากลำโพงออก เสียงจะ “หลุดตู้”มากขึ้นเหมือนดังขึ้น
- ฟังทดสอบทิศทางขาปลั๊กไฟAC ตัวผู้(ลองสลับดู) เลือกที่ได้มิติเสียงคมชัด เป็นตัวตน ไม่เอียงข้างหนึ่ง เมื่อเสียงโฟกัส เป็นตัวตนชัดขึ้น บรรยากาศโอบตัวเราดีขึ้น เราจะ “รู้สึก” เสมือนดังขึ้นเอง
- สายเสียง,ซ้าย-ขวา ห้ามแตะกัน สายลำโพงก็เช่นกัน อีกทั้งซ้ายกับขวาต้องทิศทางถูกต้อง(ฟังทดสอบ)เหมือนๆกัน อะไรที่เป็นตัวตน โฟกัสขึ้นจะเหมือนดังขึ้น
(ความดัง มี 2 นัยสำคัญ ดังจากระดับเสียง กับ ดังด้วยความรู้สึก ประมวลผลของสมอง(ไซโครอคูสติก))
- แถวๆลำโพงไม่ว่าด้านข้างหรือตรงกลางระหว่างลำโพงซ้ายกับขวาอย่าให้มีโต๊ะวาง,หิ้ง,ชั้นวาง,กล่องใดๆที่จะสะท้อนก้องเสียง(CAVITY) มันจะดึงให้เสียงกด จม ไม่หลุดลอยออกมา ฟังแล้วเหมือนอั้น ตื้อ เร่งไม่ขึ้น( กรณีนำตู้ลำโพงไปใส่ไว้ในตู้โชว์ เป็นตู้ซ้อนตู้ก็เช่นกันห้ามเด็ดชาด
- ถ้าเครื่องเสียงนั้นควบคุมด้วยรีโมทได้ ให้หลีกเลี่ยง การใช้รีโมททำให้เสียงแบน เบลอ จม ไม่ว่ารีโมทของเครื่องเอง หรือ รีโมทด้วย IPAD,มือถือ(โหลด APPฝังไว้) ให้ลองหาผ้าดำขยุ้มหนาๆเป็นก้อนมาปิดบังช่องรับรีโมทดู หลายๆเครื่องทำแล้ว เสียงหลุดลอยออกมาเป็นตัวตนดีขึ้น เสมือนดังขึ้น
- ถ้าขยันและพอจะมีฝีมือ ให้เปิดเครื่องแยกสายต่างๆภายในที่มัดรวมกันอยู่ แยกถ่าง คลี่ให้สายแตะกันน้อยที่สุด ยกสายสูงหนีตัวถังเครื่อง สายแบบที่หักศอกก็พยายามดัดให้โค้งมน ฟังทดสอบทิศทาง เส้นฟิวส์ภายใน,ภายนอกเครื่อง เอาฝาครอบเครื่องออก (ถ้าทำได้และไม่มีปัญหาเด็กเอามือแหย่) เสียงจะเป็นตัวตน ไดนามิคจะดีขึ้น ทรวดทรงดีขึ้น หลุดกระเด็นลอยออกมามากขึ้น ความกังวานดีขึ้น โฟกัสขึ้น หัวโน้ตคมชัดมีรายละเอียดดีขึ้น(หรือ IMPACT การกระแทกกระทั้น) ดีขึ้น เหมือนดีขึ้น หนักแน่นขึ้น
- อย่าวางเครื่องทับซ้อนกัน เสียงจะอั้น,กด,จม,คลุมเครือ,เหมือนค่อยลง
- แยกจอ LCD, เครื่องเล่น CD (DVD/BLURAY/MEDIA BOX) ให้ห่างจากเครื่องขยาย ยิ่งเครื่องเล่นCD ไฮเอนด์ที่ใช้วงจรUPSAMPLE สูงๆ จะแผ่คลื่นขยะความถี่สูงไปป่วนภาคขยายให้เสียงวอกแวก,ฟุ้ง,คลุมเครือ,บาง,ขาดมวลและน้ำหนัก เหมือนดังดี มิติดี 5 – 10 วินาทีหลังจากกดเล่น (PLAY) แล้วก็เบลอตลอด เช่นเดียวกันในห้องฟังต้องไม่มี PC, LCD, มือถือ, WIFI, นาฬิกา ควอตซ์,โน้ตบุ๊ก,IPAD,จะผลเสียอย่างเดียวกัน
- เวลาฟังเพลงจากแผ่นไหน ให้ลองสลับขั้วสายลำโพงบวก,ลบ ด้านหลังแอมป์ด้านเดียว (ลำโพงไม่ต้อง) สลับทั้งซีกซ้ายกับขวาพร้อมๆกัน(เรียกลองกลับ ABSOLUTE PHASE)
ฟังดูว่า สลับบวกเป็นลบ หรือลบเป็นบวกแล้ว อย่างไหนเสียงหลุดกระเด็น ลอยออกมาหาเรามากกว่ากัน ก็เลือกแบบนั้น (เฉพาะกับแผ่นนั้น แต่ถ้าแผ่นอื่นๆ ต้องลองทดสอบฟังดูใหม่ แผ่นรวมฮิตจากหลายๆอัลบั้มคงต้องทำใจ) ทำเช่นว่านี้ เพื่อให้กรวยลำโพงขยับดันอากาศมาหาเราอย่างถูกต้องที่ควรจะเป็น เพราะถ้ามันดันสวน ยิ่งเราเร่งความดันมันยิ่งดันอากาศเข้าตู้ลำโพง ยิ่งอู้ อื้ออึง เหมือนเร่งไม่ขึ้น
กรณีลำโพงแบบไบ-ไวร์และเราใช้สายลำโพง 2 ชุด ถ้าฟังแล้วทะแม่งๆ เสียงแบน,จม,ไม่ว่ากลับขั้ว ABSOLUTE PHASE ที่หลังแอมป์อย่างไร ก็เป็นไปได้ว่าดอกลำโพงแหลมกับดอกลำโพง กลางทุ้ม (กรณีลำโพง 2 ทาง) เขาทำมากลับเฟสกัน หายใจ (ดันอากาศ) สวนทางกันเอง ก็ให้สลับบวก, ลบที่หลังตู้ลำโพง(สลับชุดแหลมหรือชุดทุ้ม) ให้ตามอีกดอกที่สลับถูกต้องอยู่ เสียงจะเป็นตัวตนขึ้น เหมือนดังขึ้น
- กรณีเล่นระบบเสียงเซอราวด์ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ลำโพงเซ็นเตอร์,ลำโพงชุดหน้า,ลำโพงชุดหลัง,ลำโพงซับ หายใจคนละทิศกันอยู่ (กับเรื่องเดียวกันนั้น) ต้องลองสลับไล่ฟังทีละชุด(ฟังเซ็นเตอร์,ฟังคู่หน้า,คู่หน้า+หลัง,บวกซับ) การที่ลำโพงขยับดันอากาศสวนทิศกันเองในระบบ จะทำให้เสียงแบนติดจอ ไม่มีรูปทรง ไม่กระเด็นหลุดลอยออกมา ขาดน้ำหนัก,พลัง เหมือนเร่งความดังไม่ขึ้น (ยิ่งซับยิ่งเห็นผลมาก)
- เป็นความเข้าใจผิดว่า เพาเวอร์แอมป์ A ดังกว่าเพาเวอร์แอมป์ B ทั้งๆที่ ทั้งA และ B ระบุกำลังขับต่อเนื่อง (CONTINUOUS POWER) เท่าๆ กัน (ที่ 8 โอห์มเหมือนกัน) เพียงเพราะเพาเวอร์แอมป์ A มีความไวต่ำกว่า ( SENSITIVITY ต่ำกว่า ) คือแทนที่จะต้องป้อนด้วยสัญญาณขาเข้า 1 โวลต์ จึงจะได้กำลังขับตามที่สเปคระบุ (เครื่อง B) แต่ A กลับป้อนแค่ 0.5 โวลต์ (เครื่องเดียว) ก็ได้กำลังขับตามที่ระบุไว้แล้วเมื่อป้อนด้วยปรีแอมป์ตัวเดียวกัน เร่งวอลลูมเท่าๆกัน แน่นอนว่าเพาเวอร์แอมป์ A ต้องส่งเสียงได้ดังกว่าเพราะขณะนั้นมันสวิงกำลังขับได้สูงกว่า B แต่ไม่ได้หมายความว่า A จะมีกำลังขับ มากกว่าที่ระบุไว้ได้ เพราะเมื่อป้อนสัญญาณเข้าให้ A ถึง 0.5 โวลต์เมื่อไร มันก็ให้พลังได้สุดแล้ว ถึงเร่งกว่านั้นกำลังขับก็ไม่มากขึ้น มีแต่ว่าเสียงอ้วน,อวบ,อื้อ,อั้น,ตื้อๆขึ้น เนื่องจากภาคขาเข้าอิ่มตัว สำลักจนยอดคลื่นที่ส่งต่อไปให้ภาคอื่นหัวขาด(มน)หมดแล้ว ขณะที่ B ยังรับได้ จนเมื่อเร่งวอลลูมออกถึง 1 โวลต์ Bก็จะให้กำลังขับเท่ากับ A ได้เช่นกัน
บางครั้งถ้าเพาเวอร์แอมป์ปรับความไวขาเข้าได้ ผู้ติดตั้งอาจปรับความไวขาเข้าต่ำเกินไปกว่าที่ควร เร่งวอลลูมที่ปรีหน่อยเสียงก็อื้ออึงดังลั่นไปหมด ก็อาจทำให้เข้าใจผิดว่า A มีกำลังขับมากกว่า B (ที่สเปคระบุกำลังขับเท่ากัน) ได้
ต้องสมดุลสัญญาณขาออกจากปรีกับความไวขาข้าวของเพาเวอร์แอมป์ให้ดีๆลงตัวที่สุด(MATCH) เพื่อให้ได้ทั้ง “สุ่มเสียง” และ “มิติเสียง,ทรวดทรงเสียง”ที่ถูกต้องที่สุด ถ้าทำถูกต้องจะเหมือนเสียง “ดัง”ขึ้นได้เช่นกัน